จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพุธที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2558

นิวรณ์ 5...ระงับเสีย...ก่อนภาวนา...!!!

          ก่อนที่จะทำการปฏิบัติบูชา คือ การทำสมถภาวนา หรือ วิปัสนาภาวนาในครั้งใดๆก็ตาม ร่างกายและจิตใจต้องอยู่ในสภาพพร้อมสมบูรณ์ คำว่าพร้อมในที่นี้ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตัดนิวรณ์ 5 ทิ้งไปเสีย และก่อนที่จะตัดมันทิ้งไป เราควรมาทำความรู้จักรูปร่างหน้าตาและอุปนิสัยของมันเสียก่อน ในที่นี้ผู้เขียนได้อัญเชิญพระธรรมเทศนาตอนหนึ่งขององค์หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง มาบอกเล่าให้กัลยาณมิตรทั้งหลายได้เรียนรู้ไปพร้อมๆกันกับผู้เขียน ดังนี้...

นิวรณ์ 5 ประกอบด้วย :

1.กามฉันทะ ตัดความพอใจในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสนิ่มนวล ตามที่เราต้องการ ในอารมณ์ที่หมกมุ่นอยู่ในกามารมณ์ อาหารที่มีรสอร่อยก็อย่าไปติดมัน ในรสอาหารนี่กินดีก็ตาย กินไม่ดีก็ตาย อร่อยก็ตาย ไม่อร่อยก็ตาย เรากินอย่างอัตภาพให้เป็นไป คือตัดอารมณ์ในความสวยสดงดงามทุกอย่าง ที่เป็นรูป หรือเป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรสอะไรทั้งหมดในเวลานั้น เพราะสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ที่เราติดกันอยู่ เราจึงต้องมาเกิด เหตุเกิดมันก็เต็มไปด้วยความทุกข์

2.โทสะ และ พยาบาท  ความโกรธหรือว่าความผูกโกรธอันนี้เราก็โยนทิ้งไป เพราะเวลานี้เราต้องการอย่างเดียวคือ ความดี การทรงสติสัมปชัญญะ สงบสงัดจิตอยู่ในด้านกุศลมีแต่ความดี เวลานี้เราต้องการเท่านี้ ถึงแม้ว่าจะนึกขึ้นมาได้ว่าใครเขาว่าเรา เขานินทาเรา เราก็ควรให้อภัย ให้อภัยเพราะอะไร เพราะเขาว่าเรา เขานินทาเรา เขาเหนื่อยคนเดียว นี่เราไม่ได้เหนื่อยด้วย เรานอนสบาย...เราจะดีหรือจะชั่วไม่เกี่ยวที่ปากคน ปากคนเขาชมเราว่าดี ถ้าเราเลวแล้วเราก็ดีไม่ได้ ถ้าใครเขามานินทาว่าร้ายว่าเราเลว แต่ถ้าหากว่าเราทำดี เราก็เลวไม่ได้เหมือนกัน นี่คำวาจาของคนไม่มีความหมาย ความหมายของเราก็มีอยู่อย่างเดียว คือปฏิบัติตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่โยนความโกรธทิ้งไปชั่วขณะหนึ่งที่เรากำลังทำสมาธิ เลิกแล้วมันอยากโกรธก็ตามใจมัน นี่เรียกว่าผ่อนสั้นผ่อนยาว

3.ถีนมิทธะ  ความง่วงเหงาหาวนอน แล้วเวลาที่เราจะปฏิบัติควรตั้งเวลาไว้ แต่ควรอย่าให้ยาวเกินไป ถ้ายาวเกินไปมีอาการเครียดเป็น อัตตกิลมถานุโยค มันจะไม่มีโอกาสได้แม้แต่สมาธิ

4.อุทธัจจกุกกุจจะ  ความฟุ้งซ่านของจิต และรำคาญในเสียง การฟุ้งซ่านของจิตนี่มันเป็นของธรรมดาท่านพุทธบริษัท คนเราที่จะระงับความฟุ้งซ่านของจิตได้ก็ต่อเมื่อเราเข้าถึงความเป็นอรหัตผล นี่เวลาที่เราภาวนาและพิจารณาไปบังเอิญจิตมันจะฟุ้งส่งไปสู่อารมณ์อย่างอื่นบ้าง พอนึกขึ้นมาได้ก็จับขึ้นมาตั้งต้นกันใหม่ สักประเดี๋ยวหนึ่งมันต้องวิ่งไป พอเรารู้สึกตัวก็จับมาขึ้นกันใหม่ ทำแบบนี้ไม่ช้าจิตเราก็ตั้งอยู่ มีการทรงตัว พอเราจะห้ามมันไม่ให้มันคิดอะไรเลยนี่ไม่ได้ มันต้องคิด เพราะใหม่ๆจิตมันคิดมาจนชินแล้ว แต่ก็ค่อยๆฝึกมันไปมันก็จะทรงตัวได้

5.วิจิกิจฉา  เราไม่สงสัยในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า



นี่คือนิวรณ์ทั้ง 5 ประการ ถ้าหากว่าอย่างใดอย่างหนึ่งมันเข้ามาสิงใจ ฌาณมันก็เกิดไม่ได้ นี่เราบอกว่าการเจริญพระกรรมฐานเอาดีไม่ได้นี่ เพราะเราเป็นทาสยอมแพ้นิวรณ์ 5 ประการ แต่ขณะใดที่เราระงับนิวรณ์ทั้ง 5 ประการนี้ได้หมด ขณะนั้นจิตเข้าถึงปฐมฌาณทันที อย่างนี้เป็นของไม่ยาก...หากว่าบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านจับลมหายใจเข้าออก จะใช้คำภาวนาหรือไม่แล้วแต่อัธยาศัย แบบแผนมีอยู่แล้ว ถ้าทำไปประเดี๋ยวหนึ่งจิตมันเคลื่อนไปสู่อารมณ์อื่น แต่พอจับได้เราก็ขึ้นตั้งต้นกันใหม่ ประเดี๋ยวมันก็ไปใหม่ อย่างนี้เรียกว่า "ขณิกสมาธิ"...แปลว่าสมาธิเล็กน้อย ถ้าเราทรงอารมณ์ได้อย่างนี้สลับกันไป ทรงได้บ้างทรงไม่ได้บ้าง จนกระทั่งตาย เวลาจะตายก็มีอารมณ์ใจชุ่มชื่น...เวลาเจริญสมาธิอันนี้ต้องเตือนไว้ ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายอย่าสนใจกับภาพแสงสีใดๆ เราต้องการสมาธิ มีความต้องการอย่างเดียวคือ จิตสงบจากนิวรณ์ทั้ง 5 ประการ ให้จิตทรงไว้ในอารมณ์อันเดียว คือที่เราตั้งใจไว้ในตอนแรก นี่คือ ขณิกสมาธิ นี่ถ้าเราตายไปท่านก็ไปสวรรค์ได้ทันที โดยไม่ต้องเลี้ยวลงไปหานรกก่อน เมื่อจิตมีกำลังชุ่มชื่นมีกำลังดีขึ้นไปกว่านั้น มีอารมณ์ชุ่มชื่นมีปิติ คือความอิ่มใจ ทรงสมาธิได้นานกว่า มีความสุขกว่า อย่างนี้เรียก อุปจารสมาธิ แต่ก็ทรงได้ไม่นานนัก ถ้าทรงอุปจารสมาธิได้ ตายแล้วก็ไปเป็นเทวดาได้เหมือนกัน และเข้าชั้นยามา มีชั้นยามาเป็นที่ไป

ถ้าหากว่าจิตใจของท่านพุทธบริษัททั้งหลายทรงอารมณ์ไว้ได้ จะมีเสียงวิทยุ เสียงคนคุย เสียงคนทะเลาะกัน อะไรก็ตามเถอะ เสียงรถเสียงรา มันมาอย่างไรก็ช่าง เราไม่ได้ยินเสียง ทุกอย่างครบถ้วนสมบูรณ์เรารู้หมด เขาพูดว่าอย่างไร เขาด่ากันอย่างไร เขาชมกันว่าอย่างไร เรารู้หมด แต่ทว่าเราไม่รำคาญในเสียง สามารถทรงอารมณ์ไว้ได้ ในขณะที่เราเจริญปฏิบัติในด้านสมถภาวนาหรือวิปัสนาภาวนา อย่างนี้เรียก ปฐมฌาณ ตั้งแต่ปฐมฌาณขึ้นไป ถ้าเราตายในฌาณเราก็เป็นพรหม...แล้วต่อแต่นี้ไป ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายจงอย่าประมาทในชีวิต จงคิดเสียว่าความตายไม่มีนิมิตเครื่องหมาย เราจะกำหนดเวลาตายของเราไม่ได้แน่นอน เว้นไว้แต่ว่า ท่านที่ได้ เจโตปริยญาณ หรือว่า อตีตังสญาณ ท่านพวกนี้ท่านรู้เวลาของท่าน แต่ว่ารู้ญาณประเภทนี้เขาก็รู้ที่อยู่ด้วย ว่าเราตายไปเวลานี้เราจะไปอยู่ที่ไหน สถานที่อยู่จะมีความสุขความทุกข์เป็นประการใด อันนี้รู้ได้ แต่เอาไว้พูดกันทีหลัง เวลานี้อาตมาต้องการอย่างเดียว ให้บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายตัดสังโยชน์ให้ได้ 3 อย่าง 5 อย่าง 10 อย่าง ถ้าตัดสังโยชน์ได้ 3 อย่าง ก็เป็นพระโสดาบันกับสกิทาคามี ถ้าตัดได้ถึง 5 ข้อ หรือ 5 อย่าง ก็เรียกว่า อนาคามี ตัดได้ถึง 10 อย่าง ก็เป็นพระอรหันต์...

ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ตั้งใจควบคุมกำลังใจของท่าน จับลมหายใจเข้าออกไว้เป็นปกติ ถ้าจะเจริญแบบ มหาสติปัฏฐานสูตร ก็ให้พิจารณากำหนดจิต รู้อยู่ว่านี่เราหายใจเข้า นี่เราหายใจออก หายใจเข้าสั้นหรือยาว ออกสั้นหรือยาวก็รู้อยู่ อย่างนี้เรียกว่าทรง อานาปานุสสติ ถ้าในด้าน กรรมฐาน 40 ก็กำหนดรู้ลม 3 ฐาน เวลาหายใจเข้ากระทบจมูก กระทบหน้าอก กระทบศูนย์เหนือสะดือนิดหน่อย เวลาหายใจออกกระทบศูนย์เหนือสะดือ กระทบหน้าอก กระทบริมฝีปากหรือกระทบจมูก ใครกำหนดข้อนี้ต้องพิจารณาไว้ด้วย ถ้ากำลังใจของเราไม่สามารถจะจับ 3 ฐานได้ ก็จับฐานเดียวไว้ที่จมูก ถ้าจับได้ถึง 3 ฐานเมื่อไร ก็ทราบได้นั่นจิตของเราเข้าถึง ปฐมฌาณแล้ว...

ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้คงพอที่จะทำให้กัลยาณมิตรทั้งหลายได้รู้จักรูปร่างหน้าตา และความหมายของเจ้า นิวรณ์ 5 พอสมควร นอกจากนี้ยังแถมพระธรรมเทศนาขององค์หลวงพ่อท่านในบางตอนที่มีความเกี่ยวข้องกันเพื่อเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติของตนเองต่อไป และเมื่อครั้งใดก็ตามในขณะที่เรากำลังปฏิบัตินั้น นิวรณ์ 5 ดับลงไปแล้ว...สมาธิที่เราท่านต่างปรารถนา จะบังเกิดขึ้น...!!!

ที่มา : หนังสือ คำสอนหลวงพ่อวัดท่าซุง

นำเสนอโดย :
http://dharmaishere.blogspot.com
https://www.facebook.com/kanlakraung1.sport
https://www.facebook.com/kanlakraung1.story

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น