จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันศุกร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2558

เรารักษาศีล...ศีลรักษาเรา...!!!

          ท่านว่าโอกาสที่จะได้เกิดมาเป็นมนุษย์ช่างลำบากยากเย็นจริงๆ...เปรียบไปก็เหมือนมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาล โดยมีห่วงยางกลมลอยอยู่กลางน้ำ ขนาดของมันก็แค่ให้หัวของเต่าทะเลตัวหนึ่งซึ่ง 100 ปี จะขึ้นมาหายใจเหนือน้ำสักครั้ง โผล่ลอดตรงกลางห่วงพอดิบพอดี...เมื่อนั่งนึกตามจึงได้เข้าใจว่าการที่ใครสักคนจะได้รับโอกาสในการเกิดเป็นมนุษย์...แสนยากยิ่ง!...การเป็นมนุษย์โชคดีอย่างไร ทำไมแม้แต่เทวดาท่านยังอิจฉา...เพราะมนุษย์มีร่างกายที่เราเรียกกันว่า "ขันธ์ 5"...มี "อายาตนะ 6"... ครบถ้วน เหมาะสมกับการบำเพ็ญบารมีขั้นสูง นั่นจึงเป็นคำตอบว่า ทำไม?...องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆพระองค์จึงต้องมาบำเพ็ญเพียรในดินแดนแห่งความเป็นมนุษย์...จนถึงวาระ "ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ"...เป็นพระพุทธเจ้า ในขณะที่การเกิดเป็นเทวดา เป็นผลมาจากกรรมดีในอดีตมาสนอง โอกาสในการสร้างบุญสร้างกุศลมีน้อยกว่าความมนุษย์นั่นเอง...

เมื่อโชควาสนาหล่นใส่เท้า...ดังโครม! เช่นนี้แล้ว...ใยจะมัวรอช้ากันอยู่อีก เรามาหยอดกระปุกบุญส่วนตัวกันดีกว่า  ในบทความนี้ผู้เขียนจะได้พูดถึงเรื่องของศีลให้กับผู้ที่เริ่มสนใจที่จะหันเหชีวิตในแบบเดิมๆเข้าไปสู่ความดีที่สูงขึ้นไป ท่านผู้รู้ท่านได้กล่าวเอาไว้ว่า "การทำบุญในพระพุทธศาสนาของพวกเรานั้น แบ่งได้เป็น 3 ระดับ"...ดังนี้..

1.การให้ทาน
2.การรักษาศีล
3.การเจริญสมาธิภาวนา

นั่นหมายความว่า "การให้ทาน" เป็นสิ่งดี ทำแล้วย่อมได้บุญ แต่บุญนั้นยังไม่สามารถไปเทียบกับ "การรักษาศีล"ได้ ยิ่งถ้าใครได้ทำบุญด้วยการ "เจริญสมาธิภาวนา"...อันนี้ถือเป็นบุญขั้นสูงสุด เยี่ยมที่สุด ดีที่สุด ประเสริฐที่สุดก็ว่าได้ เหมือนกับคำกล่าวที่ว่า..."การทำบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในฝ่ายทาน คือ อภัยทาน แม้ได้ทำถึง 100 ครั้ง บุญก็สู้การรักษาศีล 5 แม้เพียงครั้งเดียวไม่ได้...ส่วนบุญที่สูงที่สุดในฝ่ายศีล คือ การที่บวชเป็นพระ รักษาศีลครบทั้ง 227 ข้อไม่ด่างไม่พร้อย เป็นเวลาถึง 100 ปี บุญกุศลที่ได้รับก็ยังน้อยกว่าการปฏิบัติสมาธิภาวนาที่ทำให้จิตสงบ ในเวลาเพียงสั้นๆ ที่เรียกว่า ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น"...

การทำบุญให้ทานไม่ได้หมายถึงการใส่บาตรพระอย่างเดียว การให้ทั้งหมด จะด้วยการสละทรัพย์เพื่อลดความตะหนี่ ให้เพราะความมีเมตตา ให้เพราะต้องการให้เขามีความสุข ช่วยถือของให้ผู้สูงอายุ รินน้ำให้คุณพ่อคุณแม่ดื่ม หรือขั้นสูงสุดของทาน คือ การให้อภัย...เหล่านี้ก็คือการทำบุญในฝ่ายของทานทั้งสิ้น... ผู้เขียนเชื่อว่าพวกเราทำกันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ไม่ได้คิดว่านั่นคือบุญ... สำหรับในตอนนี้มีบุญขั้นที่สูงกว่าการให้ทานดังที่ผู้เขียนเกริ่นให้ทราบไปแล้ว นั่นคือ "การรักษาศีล"...สำหรับศีลในทางพระพุทธศาสนา แบ่งออกได้เป็น 5 ระดับ ดังต่อไปนี้...



1.ศีล 5 : เป็นพื้นฐานของศีลทั้งหมด และมีความเหมาะสมที่สุดกับชาวบ้านธรรมดาแบบเราๆท่านๆ
2.ศีล 8 : เป็นศีลขั้นที่สูงกว่าศีล 5 เน้นที่การไม่เสพกาม เหมาะสำหรับผู้ต้องการความสงบ ไม่วุ่นวาย
3.ศีล 10 : เป็นศีลสำหรับ สามเณร ในพระพุทธศาสนา
4.ศีล 227 : เป็นศีลสำหรับ พระภิกษุสงฆ์ ในพระพุทธศาสนา
5.ศีล 311 : เป็นศีลของ พระภิกษุณี ในพระพุทธศาสนา

บทความนี้ผู้เขียนคงจะนำเพียง "ศีล 5" ได้มาบอกกล่าวให้กับท่านที่ยังไม่เคยรู้...ได้รู้ว่า ศีลทั้ง 5 ข้อ มีข้อห้าม ข้อกำหนดอะไรบ้าง...

ศีล 5 :
1.ปาณาติปาตา เวรมณี งดเว้นจากการฆ่า เบียดเบียนชีวิตสัตว์ทั้งหลาย
2.อทินนาทานา เวรมณี งดเว้นจากการหยิบฉวย ทรัพย์สมบัติที่มีเจ้าของ นำมาเป็นของเรา โดยที่ผู้เป็นเจ้าของสิ่งนั้นมิได้อนุญาต
3.กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ผิดลูก ผิดภรรยา ผิดสามีของผู้อื่น
4.มุสาวาทา เวรมณี งดเว้นจากการพูดโกหก หลอกลวง
5.สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี งดเว้นจากการดื่มสุราเมรัย ซึ่งทำให้ขาดสติ

สำหรับผู้ที่เริ่มสนใจจะเข้ามาประพฤติปฏิบัติตนโดยการรักษาศีลทั้ง 5 ข้อ ผู้เขียนก็ขออนุโมทนาสาธุในบุญของทุกท่าน การเตรียมความพร้อมก็คงอยู่ที่หัวใจของเรานั่นแหละ จากคนที่ไร้ศีลจะมารักษาศีล มันก็ลำบากพอดูในขั้นเริ่มต้น จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนเอง ในตอนแรกเราก็ต้องใช้การสมาทานศีลก่อน อย่างน้อยก็ได้ท่องให้ขึ้นใจ ได้ผ่านสายตา เรียงลำดับข้อให้ถูก 1 2 3 4 5 ท่านว่าไว้อย่างไรบ้าง เมื่อสมาทานศีลแล้วก็อยู่ในขั้นตอนการรักษาตามสัจจะที่เราตั้งไว้ คนใหม่ๆคงมีบ้างที่อาจเผลอไปทำให้ศีลขาดทะลุเป็นรูโหว่...เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็ไม่ต้องเสียอกเสียใจถึงกับขวัญเสีย อะไรที่มันผ่านไปแล้วก็ให้แล้วไป...พระพุทธเจ้าท่านทรงไม่ให้จำในเรื่องไม่ดี...เมื่อมันขาด มันทะลุ เราก็ไปสมาทานศีลใหม่...เพียงแต่ว่า เราเองอย่าไปตั้งใจทำให้ศีลขาด...จริงอยู่ เมื่อศีลขาดไปแล้ว เราก็สมาทานใหม่ได้ แต่อยากจะบอกว่า...ถ้าเป็นเช่นนั้น มันก็ไม่ต่างอะไรกับการหลอกตัวเองไปเป็นครั้งคราว...แล้วเมื่อไร ศีลที่เรารักษาจะทรงตัวล่ะ...คำว่าศีลทรงตัว ตามความเข้าใจของผู้เขียน เมื่อมีเหตุการณ์อะไรเข้ามา...จิตที่เข้าถึงศีลแล้ว มันจะอัตโนมัติในการตรวจพิจารณา คือการนึกถึงศีลเป็นอันดับแรก ว่าถ้าต้องทำสิ่งนั้น จะขัดกับศีลที่เรารักษามั้ย ถ้าขัด เราก็เลี่ยงซะ...อะไรแบบนี้ แต่ถ้าศีลยังไม่ทรงตัว จิตมันจะลืม หรือที่เรียกว่าเผลอนั่นแหละ พอทำไปแล้วถึงมานึกได้ว่า "อ้าว!...ผิดศีลนี่หว่า"...

เมื่อศีลทรงตัวอยู่ในระดับที่น่าพอใจแล้ว นั่นคือการที่เราได้รักษาศีล...เราเป็นชาวพุทธ เราก็ต้องเชื่อในพระบรมศาสดาของเรา...พระองค์ทรงสอนให้พวกเรารักษาศีล อย่างน้อยก็ศีล 5 เป็นศีลที่เหมาะสมแก่การครองเรือน ถ้าศีลดีแล้ว ทรงตัวแล้ว ไม่ด่างไม่พร้อย ไม่ขาดทะลุ ก็เป็นหนทางในการปิดอบายภูมิเป็นการถาวร...เปรียบไปแล้วนั่นก็คือ การที่เราตั้งหน้าตั้งตา รักษาศีล ก็เพื่อให้ ศีลรักษาเรา ไม่ให้เราต้องตกไปที่ต่ำ...ชั่วกัลปาวสาน...นั่นเอง...!!!

นำเสนอโดย :
http://dharmaishere.blogspot.com
https://www.facebook.com/kanlakraung1.sport
https://www.facebook.com/kanlakraung1.story





0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น