มิตตกุฎมพีเห็นนางสามาเป็นวันที่ 3 จึงถามว่า "เธอจะรับกี่ส่วน? แม่คุณ" นางสามาตอบว่า "ข้าแต่นาย...วันนี้ดิฉันขอรับ 1 ส่วน เจ้าค่ะ"...
มิตตกุฎมพีจึงกล่าวต่อนางว่า "จงฉิบหายเถิด หญิงถ่อย! วันนี้เธอรู้จักประมาณท้องของเธอหรือ?"...นางสามา ผู้มีสกุลย่อมสมบูรณ์ด้วยหิริโอตตัปปะ ฟังคำนั้นแล้วเหมือนถูกหอกแทงที่อก และเหมือนถูกน้ำแสบน้ำเค็มราดที่แผล
นางสามาจึงกล่าวว่า "นายว่าอะไรนะ เจ้าคะ?"...มิตตกุฎุมพีจึงพูดเท้าความถึง 2 วันที่ผ่านมาแล้วว่า "วันก่อนเธอรับไป 3 ส่วน เมื่อวาน 2 ส่วน แต่วันนี้เธอขอรับ 1 ส่วน วันนี้เธอรู้จักประมาณท้องของตนแล้วหรือ?"...
นางสามากล่าวชี้แจงว่า "ข้าแต่นาย ได้โปรดอย่าเข้าใจดิฉันผิดว่า ดิฉันรับอาหารไปเพื่อตนคนเดียว เลย"...
มิตตกุฎุมพีจึงถามว่า "ถ้าเป็นเช่นนั้น เมื่อวานซืน เธอจึงรับอาหารไปถึง 3 ส่วน เล่า!"...
นางสามาตอบว่า "ข้าแต่นาย เมื่อวานซืน พวกดิฉันมีอยู่ 3 คน เมื่อวานมี 2 คน ส่วนวันนี้ มีดิฉันผู้เดียวเท่านั้น เจ้าค่ะ"...
มิตตกุฎุมพีจึงถามหาสาเหตุว่า "เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?"...
นางสามาเล่าเรื่องตั้งแต่ต้น จนกระทั่งเหลือนางผู้เดียวให้มิตตกุฎุมพีฟัง...เมื่อมิตตกุฎุมพีได้ฟังเรื่องทั้งหมดแล้ว ไม่อาจกลั้นน้ำตาไว้ได้ เกิดความเศร้าใจอย่างเหลือล้น จึงพูดปลอบใจและชักชวนว่า...
"นี่แน่ะแม่คุณเอ๋ย เมื่อมีเหตุการณ์อย่างนี้ เธออย่าคิดมากเลย เธอเป็นลูกสาวของภัททวดียเศรษฐี ก็ชื่อว่าเป็นลูกสาวของเรา ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เธอจงเป็นลูกสาวของเราเถิด"...พูดจบแล้วก็จุมพิตที่ศีรษะของนางสามา แล้วนำนางไปที่บ้าน ตั้งให้เป็นลูกสาวคนโตของท่าน...
วันหนึ่งนางสามาได้ยินเสียงอึกทึกที่ โรงทาน จึงถามว่า "คุณพ่อค่ะ เหตุใดคุณพ่อไม่ทำให้ชนเลิกส่งเสียงอึกทึก แล้วจึงให้ทานเจ้าคะ?"...
มิตตกุฎุมพีตอบว่า "ลูกเอ๋ย พ่อมิสามารถกระทำได้"...
นางสามากล่าวรับอาสาว่า "คุณพ่อคะ ลูกสามารถกระทำได้ เจ้าค่ะ"...
มิตตกุฎุมพีจึงถามว่า "ลูกจะกระทำอย่างไร ลูกเอ๋ย?"...
นางสามาออกอุบายวิธีว่า "คุณพ่อคะ ขอคุณพ่อจงล้อมรั้วโรงทาน ทำประตูเข้าและออกไว้ 2 แห่ง ขนาดพอประมาณ ให้เข้าออกได้ทีละคนเท่านั้น แล้วบอกให้พวกเขาเข้าใจว่า 'จงเข้ารับทานทางประตูนี้ ออกทางประตูนั้น' เมื่อเป็นอย่างนี้ บุคคลทั้งหลายก็จะเงียบเสียงในเวลารับประทาน เจ้าค่ะ"
มิตตกุฎุมพีฟังคำนั้นแล้วจึงกล่าวว่า "อุบายวิธีนี้เข้าทีดีลูก!"...แล้วให้กระทำตามอุบายวิธีนั้น แม้ลูกสาวภัททวดียเศรษฐี เดิมนางมีชื่อว่า "สามา" แต่เพราะนางให้กระทำ "วติ" หรือ "วดี" ซึ่งแปลว่า รั้ว จึงได้ชื่อว่า "สามาวดี"...ตั้งแต่นั้นมา ความอึกทึกโกลาหลในโรงทานก็เงียบหายไป...โฆษกเศรษฐี เคยได้ฟังเสียงอึกทึกในกาลก่อน ก็ดีใจว่าเป็นเสียงใน โรงทาน ของตน แต่เมื่อไม่ได้ยินเสียงอึกทึก 2-3 วัน จึงถาม มิตตกุฎุมพีผู้มาหาตนว่า...
"ดูก่อนกุฎุมพี ท่านยังให้ทานแก่คนกำพร้าและคนเดินทางไกลเป็นต้น อยู่หรือ?"...
มิตตกุฎุมพีตอบว่า "ข้าแต่นาย กระผมยังให้ทานอยู่ ขอรับ"...
โฆษกเศรษฐีถามว่า "เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำไมเราจึงมิได้ยินเสียงอึกทึกมา 2-3 วันแล้ว?"...
มิตตกุฎุมพีตอบว่า "กระผมได้ทำอุบายวิธี มิให้พวกเขาส่งเสียงเอะอะขอรับ"...
โฆษกเศรษฐีจึงถามด้วยความสงสัยว่า "ถ้าอย่างนั้น เพราะเหตุใดเมื่อก่อนท่านจึงไม่กระทำเล่า?"...
มิตตกุฎุมพีตอบรับแบบตรงไปตรงมาว่า "เพราะเมื่อก่อนกระผมไม่รู้อุบายวิธี ขอรับ"...
โฆษกเศรษฐีถามต่อไปว่า "คราวนี้ ท่านรู้ได้อย่างไร?"...
มิตตกุฎุมพีตอบว่า "ข้าแต่นาย เพราะลูกสาวของกระผม บอกอุบายวิธีให้ ขอรับ"...
โฆษกเศรษฐีฟังคำตอบว่า 'ลูกสาว' ก็ทำให้สงสัย จึงถามว่า "ลูกสาวของท่าน ที่เราไม่รู้จัก มีอยู่หรือ?"...
มิตตกุฎุมพี ได้เล่าเรื่องของภัททวดียเศรษฐีทั้งหมด นับตั้งแต่เกิดอหิวาตกโรค กระทั่งบอกให้ทราบเรื่องนางสามาวดี ผู้เป็นลูกสาวของภัททวดียเศรษฐี โดยมิตตกุฎุมพีได้ตั้งนางไว้ในฐานะลูกสาวคนโตของตน...ครั้งนั้น โฆษกเศรษฐีกล่าวกับมิตตกุฎุมพีว่า "เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุใดท่านจึงไม่บอกแก่เรา?...ลูกสาวของสหายของเรา ก็ชื่อว่าเป็นลูกสาวของเรา"...ว่าดังนั้นแล้ว ให้เรียกนางสามาวดีมาถามว่า ..."นี่แน่ะแม่หนู! เธอเป็นลูกสาวของท่าน ภัททวดียเศรษฐีหรือ"...
นางสามาวดีเรียนตอบว่า "ข้าแต่คุณพ่อ ดิฉันเป็นลูกสาวของท่าน ภัททวดียเศรษฐี เจ้าค่ะ"...
โฆษกฟังคำตอบรับของนางแล้ว จึงกล่าวว่า "ถ้าอย่างนั้น เธออย่าคิดมากเลย นับแต่นี้ เธอจงเป็นลูกสาวของเรา"...ว่าแล้วก็จุมพิตที่ศีรษะของนางสามาวดี และมอบหญิง 500 คน เพื่อเป็นบริวารแก่นางสามาวดี แล้วตั้งนางสามาวดีไว้ในฐานะลูกสาวคนโตของตน...
อยู่มาวันหนึ่ง ได้มีงานนักขัตฤกษ์ขึ้น ณ เมืองโกสัมพี ในงานนักขัตฤกษ์นั้น แม้กุลธิดาผู้ไม่เคยออกไปนอกบ้านเลย ต่างก็ต้องเดินไปที่แม่น้ำกับพวกบริวารของตน...เพราะเหตุนั้น แม้แต่นางสามาวดีพร้อมด้วยหญิงบริวาร 500 คน แวดล้อมนางอยู่ ก็ได้เดินผ่านหน้าพระราชวังเพื่อไปอาบน้ำ...ฝ่ายพระเจ้าอุเทน ทรงยืนอยู่ที่สีหบัญชร ทอดพระเนตรเห็นนางสามาวดี จึงมีพระราชดำรัสถามว่า "พวกหญิงเหล่านั้นเป็นสนมของใคร?"...เรื่องราวจะดำเนินต่อไปเป็นเช่นไร...ติดตามกันได้ในตอนที่ 4 นะครับ...!!!
ผู้ใดมีธรรมะภายในใจ ผู้นั้นย่อมมีธรรมรักษา : ธัมโม หเว รักขติ ธัมมจารี
ที่มา : หนังสือ "พระนางสามาวดีอุบาสิกา ผู้เป็นเลิศด้าน "ผู้อยู่ด้วยเมตตา"
เรียบเรียงโดย : อ.จำเนียร ทรงฤกษ์ ( วัดสังฆทาน )
บทความจาก :
นำเสนอโดย :
http://dharmaishere.blogspot.com
https://www.facebook.com/kanlakraung1.sport
https://www.facebook.com/kanlakraung1.story
รออ่านตอนต่อไปนะคะ ^_^
ตอบลบขอบคุณครับ...รอติดตามนะครับ
ลบ