จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอังคารที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2558

ณ เส้นทางหนึ่งที่มีชื่อว่า...ทางสายกลาง...!!!

          มัชฌิมาปฏิปทา...หรือที่เราเรียกกันในแบบที่คุ้นเคยว่า...ทางสายกลาง...เมื่อเห็นคำๆนี้ที่ไหนมักจะมีคำอีก 2 คำเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ...นั่นคือ



1.อัตตกิลมถานุโยค คือ การกระทำตนให้ลำบากเกินไป ได้แก่อาการทรมานตัว ปฏิบัติเครียดเกินไป อย่างนี้ไม่สามารถบรรลุมรรคผลได้
2.กามสุขัลลิกานุโยค คือ ความสุขความสบายจนเกินควร เวลาปฏิบัติก็อยากจะได้อย่างนั้นอยากจะได้อย่างนี้ อยากจะถึงโน่น อยากจะถึงนี่ ตัวอยากนี่เป็นตัณหา เป็นกิเลส เราปฏิบัติเพื่อวางกิเลส แต่เราเอากิเลสเข้ามาสิงใจ มันก็ไม่ได้อะไรเหมือนกัน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้บรรดาพุทธบริษัทปฏิบัติเป็นสายกลาง อย่าตึงเกินไป และก็อย่าหย่อนเกินไป ทำเอาแค่สบายๆ การเจริญสมถภาวนา วิปัสนาภาวนา เราทำให้เกิดความสุข เราทำให้เกิดความสบาย ไม่ใช่ทำเป็นการทรมานกาย ทรมานใจ อันนี้มันไม่ถูก...นี่การทำแบบไหนล่ะมันถึงจะพอดีพอควร ก็ดูตัวของเราเองก็แล้วกัน เราอย่าเอาร่างกายของเราไปวัดกับร่างกายของคนอื่น คนอื่นบางทีเขานั่งเจริญภาวนา 3-4 ชั่วโมง เขากำลังสบาย ร่างกายเขาทรงอยู่ได้ ถ้าร่างกายของเราทรงไม่ได้อย่างเขา ก็อย่าไปทำขนาดเขา เพราะว่าการปฏิบัตินี่มันไม่ใช่มันต้องนั่งอย่างเดียว นอนก็ได้ ยืนก็ได้ เดินก็ได้ ในอิริยาบถ 4...มีโอกาสที่จะพึงบรรลุมรรคผลได้เสมอกัน นี่เรียกว่าทำให้พอดี ถ้านั่งมันเมื่อยก็ยืน ยืนมันเมื่อยก็เดิน เดินมันเมื่อยก็นอน ถ้านอนภาวนาจนหลับไป อันนี้อาตมา (หลวงพ่อพระราชพรหมยาน) จะชอบใจมาก...



เวลาไม่มี ไม่มีเวลา...ภาวนาก็ดี พิจารณาก็ดี พิจารณาในด้านสมถภาวนา วิปัสนาภาวนา...ในสมถภาวนานี่มีทั้งพิจารณาและก็ภาวนา ถ้าลืมภาวนาหรือพิจารณาไปแล้วก็หลับไป ไม่รู้ว่าหลับเมื่อไร อย่างนี้แสดงว่าจิตของท่านเข้าถึง ปฐมฌาณ...หากว่าจิตของท่านไม่เข้าถึง ปฐมฌาณ มันหลับไม่ได้ ถ้าจะถามว่าหากว่าภาวนาจนกระทั่งหลับนี่จะใช้เวลาเท่าไร ก็จะขอตอบว่า ถ้าภาวนาไปแล้วมันหลับเร็วเท่าไรก็ยิ่งดี เพราะจิตมันเข้าถึงฌาณเร็ว...การเป็นผู้ทรงฌาณนี่เราสามารถทำได้ ที่ท่านทั้งหลายพูดว่า เวลาไม่มี เวลาไม่พอ อันนี้ไม่จริง ตัวเราทุกคนต้องนอนอยู่แล้ว ในเมื่อเรามีเวลานอนพอ เวลานอนนั่นเราทำอะไร จะไปตักน้ำ จะไปหุงข้าวหรือจะไปทำงานอะไรนี่มันไม่มีแล้ว เวลาที่เราจะหลับจับองค์ภาวนานึกถึงคุณพระรัตนตรัย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น...หนือว่าท่านพอใจในกรรมฐานกองใดกองหนึ่งที่เป็นตัวภาวนาหรือพิจารณาก็ตาม หรือว่าจะพิจารณาใน ขันธ์ 5 ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ 5 ขันธ์ 5 ไม่มีในเรา อย่างนี้ก็ได้...

ในเมื่อจะพิจารณาว่าร่างกายนี้เป็น อนิจจัง มันไม่เที่ยง ทุกขัง มันทรงอยู่ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ในที่สุดมันก็สลายตัว มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่ควรจะมีขันธ์ 5 ต่อไป เราต้องการพระนิพพาน อย่างนี้ก็ทำได้ จะภาวนาหรือพิจารณาอย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาไป ภาวนาไป แล้วมันหลับ นี่ถ้าหากว่าจิตเราเข้าไม่ถึงปฐมฌาณมันหลับไม่ได้ ใจมันจะทรงอยู่จะเกิดความรำคาญ ถ้ามันทรงไม่ไหวก็พักเสีย จนกว่าจิตเราจะมีความละเอียดเข้าถึงจุด ...เริ่มภาวนาประเดี๋ยวเดียว หลับเลย อันนี้อาตมา (หลวงพ่อพระราชพรหมยาน) จะชอบมาก...พอนึกว่าจะภาวนา ไม่ทันจะภาวนาก็หลับ หรือนึกว่าจะพิจารณา ไม่ทันพิจารณาก็หลับ อย่างนี้จะชอบใจ เพราะว่าอะไร...เพราะว่าจิตของท่านเข้าถึงปฐมฌาณเร็ว...

นี่การทรงฌาณเราทรงได้ทุกวัน ถ้าปฏิบัติแบบนี้ เราตื่นขึ้นมาเวลาเช้ามืด ยังพอมีเวลา ยังไม่ต้องลุกขึ้นมา อิริยาบถนั้นเปลี่ยนมันจะเคลื่อนจากสมาธิ ก็ให้จับองค์ภาวนา หรือพิจารณาต่อไป จิตใจจะชุ่มชื่น ถ้ามีอารมณ์แนบสนิททรงสมาธิได้ดี วันนั้นทั้งวันท่านจะมีแต่ความสุข ท่านจะมีความเฉลียวฉลาดเป็นพิเศษ การตอบปัญหาเฉพาะหน้าใดๆ จะทำได้อย่างคล่องแคล่วอย่างคาดไม่ถึง...นี่ผลในการภาวนาและพิจารณามีผลอย่างนี้...นี่พูดให้ฟังถือว่าการทรงฌาณทุกวันเราทำได้ ไม่ใช่ทำไม่ได้ ทำแบบนี้ได้ทุกๆวัน เพราะเรามีการงานมาก ไม่ต้องไปนั่ง การนั่งก็เหมือนกัน ไปนั่งเก้าอี้ นั่งห้อยขา นั่งบนเตียง นั่งที่ไหนมันก็ได้ ไม่ต้องเลือกอิริยาบถ ไม่ต้องไปเลือกอาการของการนั่ง ไม่ใช่ต้องไปนั่งพับเพียบ หรือว่านั่งขัดสมาธิเสมอไป อันนี้ไม่จำเป็น นี่หากเวลานั่งอยู่ ถ้าเราเมื่อย ถ้าพับเพียบก็เปลี่ยนจากขวาไปซ้าย ซ้ายไปขวา อย่างนี้ก็ทำได้ หรือจะนั่งขัดสมาธิ นั่งขัดสมาธิไม่ชอบใจ หันมานั่งพับเพียบ นั่งพับเพียบมันไม่ไหว ร่างกายมันทำงานมาทั้งวัน มันต้องการพักผ่อน ก็ไปนั่งบนเก้าอี้เหยียดขาให้สบาย เอนกายลงไป ใจจับอยู่ในด้านสมาธิ หรือวิปัสนาญาณ อย่างนี้ก็มีผลเหมือนกัน เพราะเราไม่ได้ฝึกกาย แต่เราฝึกใจ...

เราฝึกใจฝึกไปไหนล่ะ นี่จุดที่เราฝึกเพื่อตายกัน เพราะว่าถ้าจิตเราเป็นสมาธิ เราทรงอยู่ในด้านวิปัสนาญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าตายแล้วจิตมันก็คบเอาอารมณ์นี้ไปด้วย มันคบอารมณ์สมถภาวนาวิปัสนาไป จิตมันก็ลงต่ำไม่ได้ มันไปเบื้องสูง อย่างเลวที่สุดเราก็เป็นเทวดา ถ้าจิตตั้งมั่นเป็นฌาณเราก็เป็นพรหม...ถ้าจิตวางอวิชชา คือ ขันธ์ 5 เสียได้แล้ว เราก็ไปพระนิพพาน มันไม่ยาก ความจริงมันไม่มีอะไรยาก นี่สำหรับการเจริญพระกรรมฐาน

จะเห็นว่าทางสายกลางมีอยู่ เราผู้ปฏิบัติก็เพียงแต่นำมาใช้ ปรับให้เข้ากับสภาวะร่างกายและจิตใจ ดังที่องค์หลวงพ่อท่านได้เทศนาสอนเอาไว้ว่า...การปฏิบัติเรามาฝึกใจ ไม่ใช่ฝึกกาย...ดังนั้นเมื่อเราได้เส้นทางที่เหมาะสำหรับเราแล้ว ไม่ตึงเกิน ไม่หย่อนเกิน...นั่นแหละ คือทางสายกลางเฉพาะเราที่ต้องปฏิบัติเพื่อให้ได้มรรคได้ผล...!!!

ที่มา : หนังสือ คำสอนหลวงพ่อวัดท่าซุง 21

นำเสนอโดย :
http://dharmaishere.blogspot.com
https://www.facebook.com/kanlakraung1.sport
https://www.facebook.com/kanlakraung1.story


2 ความคิดเห็น:

  1. สุดยอดดดด" ทางสายกลาง"แค่ได้ฟังก้อเย็นใจ
    อีกนัยที่พระตถาคตตรัตไว้ คือมรรคมีองค์8
    คือทางสายกลาง ทางที่พอเหมาะพอดี ไม่สุดโต่งเกินไปและไม่ย่อหย่อนจนไม่มีผล ทางตรงทางอัมตะโดยแท้ สาธุ สาธุ สาธุ

    ตอบลบ